ข้าวหอมนิลเป็นข้าวที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนาจนได้ข้าวที่มีเมล็ดข้าวกล้องเรียวยาว สีม่วงเข้ม ข้าวกล้องเมื่อหุงสุกจะนุ่มเหนียว และมีกลิ่นหอม น่ารับประทาน ที่สำคัญคือ ข้าวกล้องมีโปรตีนสูงถึง 12.5% ปริมาณคาร์โบไฮเดรต 70% ปริมาณ amylose 16% และยังประกอบไปด้วย ธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง แคลเซียม และโพแทสเซียม ซึ่งสูงกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 (ตารางที่ 1) การศึกษาเอกลักษณ์ทางพันธุกรรมโดยใช้โมเลกุลเครื่องหมายชนิด microsatellite จำนวน 48 ตำแหน่งมาทำการตรวจสอบชี้ให้เห็นว่าข้าวหอมนิลมีความแตกต่างจากข้าวพันธุ์ Hei Bao และ Xua Bue Huq ที่เป็นข้าวเมล็ดสีดำของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงยืนยันได้ว่าข้าวทั้ง 3 ไม่ได้เป็นพันธุ์เดียวกัน
ตารางที่ 1 คุณค่าทางโภชนาการของข้าวเจ้าหอมนิลเทียบกับข้าวขาวดอกมะลิ 105
คุณค่าทางโภชนาการ | ข้าวเจ้าหอมนิล | ข้าวขาวดอกมะลิ 105 |
---|---|---|
โปรตีน (เปอร์เซ็นต์) | 12.56 | 6.0 |
คาร์โบไฮเดรต (เปอร์เซ็นต์) | 70.0 | 80.0 |
ธาตุเหล็ก (มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) | 3.26 | - |
สังกะสี (มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) | 2.9 | - |
แคลเซียม (มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) | 4.2 | - |
โพแทสเซียม (มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) | 339.4 | - |
ทองแดง (มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) | 0.1 | - |
ตารางที่ 2 ปริมาณวิตามินบางชนิดในข้าวและข้าวสาลี
วิตามิน | ข้าวกล้อง | ข้าวขัดขาว | ข้าวสาลี |
---|---|---|---|
B1 (มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) | 0.34 | 0.07 | 0.57 |
B2 (มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) | 0.05 | 0.03 | 0.12 |
B3 (มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) | 4.7 | 1.6 | 7.4 |
B6 (มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) | 0.62 | 0.04 | 0.36 |
Folic acid (ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม) | 20 | 16 | 78 |
ที่มา: Chrispeels, M.L. and E.S. David, 1994. Plants, Genes and Agriculture. Jones and Bartlett Publishers. London. England. 478 p.
นอกจากนี้ ข้าวพันธุ์นี้ยังมีสารแอนโทไซยานิน ที่ช่วยทำให้เส้นผมดกดำ นุ่มสลวยไม่แตกปลาย ช่วยบำรุงรากผมให้แข็งแรง กระตุ้นให้ผมมีสีเข้มขึ้น ชะลอกการเกิดผมหงอกก่อนวัย และธาตุเหล็กที่มีอยู่ในข้าวหอมนิลนี้ ทานเข้าไปในร่างกายสามารถดูดซึมได้เลย ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการบำรุงโลหิตได้ทันที
Anthocyanin / แอนโทไซยานิน เป็นรงควัตถุหรือสารสี (pigment) ที่ให้สีแดง ม่วง และน้ำเงิน ใช้เป็นสารให้สี (coloring agent) ธรรมชาติในอาหาร สารสกัดแอนโทไซยานิน มีสมบัติเป็นโภชนะเภสัช (nutraceutical) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง ด้วยการยับยั้งไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อน ชะลอความเสื่อมของดวงตา ช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรค (pathogen) อีโคไล (Escherichia coli) ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงและอาหารเป็นพิษด้วย
แอนโทไซยานินมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการจัดเป็น functional food เพราะสารนี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิด โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และโรคมะเร็ง (Lazze et al., 2004)
ที่มา: กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว, เกร็ดความรู้ข้าวหอมนิล, ม.เกษตรศาสตร์